เปลี่ยนภาษา Blogger

มะยม


''ประโยชน์ของ มะยม''เพื่อสุขภาพที่ดี

พูดถึงมะยม แค่พูดชื่อก็เปรี้ยวจี๊ดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้จี๊ดแค่ชื่อ สรรพคุณด้านสมุนไพรไทยยังจัดว่าจ๊๊ดอีกด้วย (จี๊ด เป็นศัพท์วัยรุ่นนะครับ สำหรับท่านที่ไม่ทันเช่นผม จี๊ดมีความหมายประมาณว่าสุดๆไปเลย อะไรทำนองนี้) และด้วยความที่มะยมเป็นของหาง่าย ปลูกง่าย มะยมจึงจัดว่าเป็นพืชยอดนิยมเหมือนชื่อของมัน วันนี้เองผมจึงอยากแนะนำให้รู้ทุกท่านได้รู้จักมะยมกัน อย่างชนิดที่เรียกว่าหมดเปลือก(จริงๆมะยมก็ไม่มีเปลือก) มาดูว่าสรรพคุณของมันมีมากน้อยเพียงใด จี๊ด ดังที่ผมกล่าวไว้ในตอนแรกหรือเปล่า


สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทยของมะยม
  • รากของมะยม ใช้แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ซับน้ำเหลืองจากแผลให้แห้ง ดับพิษเสมหะ แก้ประดง*
* เพิ่มเติมข้อมูล โรคประดง คือ โรคผื่นคันตามผิวหนังหรือที่เรียกกันติดปากว่า “โรคประดง” ลักษณะของผื่น มีหลายแบบ เช่นอาจขึ้นเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ คล้ายยุงกัดทั่วตัว หรือเป็นผื่นแดงเล็กๆ หรือขึ้นเป็นทางตามตัว ผื่นเม็ดเล็กสีค่อนข้างขาว หรือผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ (ข้อมูลจาก http://www.numsai.com)
  • เปลือกของลำต้น ใช้แก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ (สองอาการนี้น่าจะต่างกันที่ลำดับก่อนหลัง ของรอบเดือน และอาการไข้)และ แก้ผดผื่นคัน
  • ใบ ใช้ปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว แก้ไข้ ดับพิษไข้ บำรุงประสาท โดยต้มร่วมกับใบหมากผู้หมากเมีย และใบมะเฟือง อาบแก้คัน ไข้หัด เหือด และสุกใส
  • ดอก ดอกสดใช้ต้มกรองเอาน้ำแก้โรคตา ชำระล้างดวงตา (สูตรนี้ไม่แนะนำนะครับ เรื่องของดวงตา อยากให้รักษาด้วยแผนปัจจุบันมากกว่า แต่ลงพอให้ทราบว่าว่าตำรายาสมุนไพรไทยสมัยก่อน เขามีสูตรนี้)
  • ผล ใช้กัดเสมหะ (ขับเสมหะ )แก้ไอ บำรุงโลหิต และเป็นยาระบาย
สูตรยาสมุนไพรไทยจากมะยม
  1. สูตรยาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ใช้ราก 1000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม ต้มกับน้ำ 10 ลิตร โดยต้มให้เดือด 5-10 นาที ทิ้งไว้ให้อุ่นใช้แช่อาบ (จะแช่ในกะละมัง หรืออ่างจากุ๊ดชี่ก็ตามสะดวก) ทำควบคู่ไปกับใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าวทาวันละ 2-3 ครั้ง
  2. สูตรยาบำรุงโลหิต ยาอายุวัฒนะ ใช้ผลแก่ดองในน้ำเชื่อม (น้ำ 1ส่วนน้ำตาล 3 ส่วน) ดองจนครบสามวัน ทะยอยทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
  3. สูตรยาลดความดันโลหิต ใช้ใบแก่พร้อมก้าน 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม เติมน้ำตาลเล็กน้อยพอดับเฝื่อน ต้มให้เดือนาน 5 นาที แล้วดื่มควบคู่กับการวัดความดันไปด้วย เมื่อความดันเป็นปรกติ ต้องหยุดทาน (เรื่องความดันโลหิตเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง ผมอยากให้สูตรนี้เป็นทางเลือกในการรักษามากกว่า หากท่านใดกำลังรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ควรหยุดยาที่แพทย์จ่าย)
ข้อควรระวัง
น้ำยางจากเปลือกของรากมะยมมีพิษเล็กน้อย ถ้ารับประทานเข้าไปอาจมีอาการปวดท้อง ปวดศรีษะ และง่วงซึม ต้องระวังเรื่องยางจากเปลือกรากให้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก thai Wikipedia ,หนังสือ สมุนไพรก้นครัว กินแล้วไม่ป่วย ภาพประกอบจาก biogang

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น